รู้ราคาเหล็กช้า | VRSteel | บทความ | เช็คราคาเหล็กออนไลน์ | เหล็กแพง | ผู้รับเหมา | เตรียมรับมือ | เหล็กพุ่ง

0

เมนู
บทความน่ารู้

เตรียมรับมือกับราคาเหล็กพุ่งอีกระลอกแล้วหรือยัง?

13/10/2021, 17:43:30
แชร์

        มีผู้รับเหมาหลายเจ้าเข้ามาถามตลอดว่า “เมื่อไหร่ราคาเหล็กจะลงสักที” วันนี้ VRSteel จะมาวิเคราะห์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของราคาในช่วงปีที่ผ่านมาให้ฟังกัน เพื่อจับกระแสความผันผวน โดยจะพยายามให้ลูกค้าทุกท่านเข้าใจถึงต้นเหตุการขึ้น-ลงของเหล็ก เริ่มตั้งแต่ราคาวัตถุดิบในกระบวนการผลิตจนไปถึงปัจจัยแวดล้อม และเหตุการณ์ต่างๆที่ผู้ซื้อสินค้าเหล็กกลุ่ม Ferrous Metals ควรต้องรู้ เพื่อเตรียมรับมือการปรับตัวของราคาเหล็กในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างโดยตรง


    ก่อนที่จะเข้าลำดับเหตุการณ์ เราขอแนะนำองค์ประกอบหลักของต้นทุนเหล็กกึ่งสำเร็จรูป อาทิ เหล็กแท่งยาว (Billet) และเหล็กแท่งแบน (Slab) ที่มีการซื้อขายในตลาดโลก โดยหลักๆจะใช้เป็นดัชนีราคาพื้นฐานเนื่องจากเป็นต้นทุนหลักในการผลิตเหล็กขั้นกลาง ซึ่งการผลิตเหล็กกึ่งสำเร็จรูปกลุ่มนี้จะใช้วัตถุดิบ อาทิ แร่เหล็ก (Iron ore), ถ่านหิน (Coking coal), และธาตุองค์ประกอบต่างๆ โดยในกระบวนการผลิตในระดับที่ย่อยลงมาจะใช้ เศษเหล็กและเหล็กถลุง (pig iron) เป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งสัดส่วนของมูลค่าวัตถุดิบเหล่านี้จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 75%-80% (โดยประมาณ) และส่วนที่เหลือจะเป็นต้นทุนในกระบวนการผลิต (Conversion Cost) ต้นทุนค่าบริหารและขนส่ง (Management & Logistics cost) และส่วนของกำไร (Profit Margin)




               เมื่อเข้าใจองค์ประกอบของต้นทุนเหล็กแล้ว VRSteel จะมาไล่เรียงลำดับเหตุการณ์กันว่า มันมีอะไรเกิดขึ้น ที่ทำให้ราคาเหล็กเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้

               เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2019 (ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19) ระดับราคาเหล็กถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากปัญหาเงินฝืด มีภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกจนมีคำกล่าวว่าเป็นปลายวัฏจักรของการเติบโต (Late Cycle) เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด ปัจจัยก็มีหลายอย่าง อาทิ สงครามการค้า การโจมตีค่าเงิน เหตุการณ์ BREXIT มีการตั้งกำแพงภาษีของอเมริกา เกิดเหตุการณ์ปลุกระดมให้กีดกันการค้ากับจีน จากหลายเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจีนก็เริ่มปรับกระบวนทัศน์ทางการค้า โดยมุ่งนโยบายที่เน้นการพึ่งพาการบริโภคในประเทศ เร่งการลงทุนโครงข่ายการเชื่อมเส้นขนส่ง BRI จีนให้เงินกู้และส่งธุรกิจเครือข่ายเข้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในหลายประเทศ และมุ่งปรับอุตสาหกรรมในประเทศให้เปลี่ยนจากการผลิตเชิงปริมาณมาเป็นการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า 

               ประเด็นการถกเถียงเรื่อง การควบคุมและลดอัตราการปลดปล่อยคาร์บอนเพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) กดดันจีนอย่างต่อเนื่อง ลามไปถึงเรื่องการกีดกันการค้า และขึ้นภาษี จนรัฐบาลจีนต้องตอบโต้ออสเตรเลียด้วยการไม่ซื้อถ่านหินและแร่เหล็ก โดยหันไปซื้อจากแหล่งอื่นแม้จะมีต้นทุนการที่สูงกว่า อีกทั้งรัฐบาลจีนก็แก้ปัญหาภาพลักษณ์ แสดงความพยายามลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการปิดโรงงานผลิตเหล็กขนาดใหญ่หลายแห่งที่ถูกโจมตีว่าเป็นตัวก่อมลภาวะ

               เมื่อสถานการณ์ Covid-19 เกิดขึ้นและเริ่มบานปลายจนควบคุมไม่ได้ รัฐบาลทั่วโลกอัดฉีดเงินเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาโควิด เกิดการกู้หนี้จำนวนมากเพื่อพยุงเศรษฐกิจของตน เร่งอัตราเงินเฟ้อในระบบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 50 ปี ย้อนแย้งกับ Productivity ของโลกที่ตกต่ำ มีการปิดโรงงาน ปิดท่าเรือ งดการเดินทางต่างๆ จน Supply Shock และสินค้าหลายอย่างขาดหายไปจากระบบในช่วงเวลาหนึ่ง หากแต่ Demand บางส่วนที่ยังคงอยู่ก็ค่อยๆลดลงไปเนื่องจากมาตรการควบคุมโรคติดต่อ 

                  ต่อมา เมื่อสถานการณ์เริ่มคลายตัว ความต้องการในตลาดและการฟื้นตัวของงานก่อสร้างในจีนเริ่มกลับมา ในขณะที่ delay of supply ยังสร้างปัญหาอย่างมาก  เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ ขาดแคลนแรงงาน ปัญหาถ่านหินแพงก็ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในจีนสูงขึ้น เกิดปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ จนจำเป็นต้องจำกัดการใช้ไฟฟ้าในหลายพื้นที่ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเหล็กมีน้อย เมื่อปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ตลาดจึงถูกกระตุ้นด้วยความตื่นตระหนก อ้างถึงทฤษฎี Bullwhip effect (Forrester, Jay Wright (1961). Industrial Dynamics. MIT Press) เหตุการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดอุปสงค์ที่คาดการณ์ได้ (predictable demand) เกินความต้องการจริงในตลาด การปั่นปริมาณความต้องการจนเกินจริงมีผลทำให้เกิดการปั่นราคาในตลาดการค้า ราคาเหล็ก ราคาถ่านหิน ราคาแร่พื้นฐานก็เพิ่มสูงตามกลไกแบบเฉียบพลัน เช่นเดียวกันกับสถานการณ์น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเกิน 300% (ดูกราฟ) ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางเรือสูงขึ้นเป็นเท่าตัว และทั้งหมดก็สนับสนุนให้ราคาเหล็กดีดตัวอย่างรุนแรงในช่วงปลายปี 2020

Average monthly Brent crude oil price

(in U.S. dollars per barrel)


              กลับมาถึงการบริโภคเหล็กของประเทศไทยที่ไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ไทยพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเหล็กกึ่งสำเร็จรูปเศรษฐกิจไทยที่มีภาวะเงินเฟ้อในเงินฝืดกล่าวคือสถานการณ์ที่เกิดเงินเฟ้อในระบบผสมภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ GDP ตกต่ำ ไม่มีเงินหมุนเวียนเพราะความต้องการซื้อในประเทศซบเซา ผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยไม่สามารถกลับมาเดินเครื่องการผลิตได้อย่างเต็มที่ ด้วยสถานการณ์เหล็กในไทยที่ซบเซา ผู้ผลิตเหล็กที่มีเตาหลอมซึ่งใช้เศษเหล็กในประเทศที่ยังมีราคาถูกจึงหันมาผลิตเหล็กเพื่อส่งออก เนื่องจากมีส่วนต่างผลกำไรที่ดีกว่าในขณะที่ผู้ผลิตเหล็กขั้นปลายส่วนใหญ่ยังคงต้องพึ่งพาวัตถุดิบเหล็กนำเข้ามูลค่าต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานสูงขึ้นส่งผลให้ราคาเหล็กในประเทศจำเป็นต้องปรับขึ้นโดยปริยายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้กำลังการซื้อในประเทศจะซบเซาก็ตาม

              อีกหนึ่งเหตุผลคือ ราคาเหล็กที่ปรับตัวอย่างกะทันหันส่งผลให้ผู้จำหน่ายส่วนใหญ่ได้ระบายสินค้าในสต๊อค ออกไปอย่างมาก ความต้องการในประเทศที่ต่ำและเสถียรภาพของรัฐบาลไม่ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อความการลงทุนเป็นปัจจัยเสี่ยง เมื่อไม่เห็น demand ที่ชัดเจนในอนาคตมารองรับ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ค้าเหล็กจึงไม่กล้าเก็บสินค้าเพิ่ม มีการกลัวความเสี่ยงหากราคาไหลลงแบบกะทันหัน ผู้ค้าส่วนใหญ่ต่างลด ปริมาณคงคลังของผลิตภัณฑ์เหล็กในมือ สถานการณ์ตลาดเหล็กของไทยประเทศไทยจึงมีลักษณะที่เรียกว่า ”กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก” กล่าวคือ ผู้ผลิตมีต้นทุนสูง / ผู้ซื้อมีความต้องการต่ำ / โลกมีภาวะเงินเฟ้อสูง / เงินบาทไทยอ่อนค่า.... ความโชคดีคือฐานราคาสินค้าเหล็กในไทยยังปรับตัวช้ากว่าราคาตลาดโลก

              ทั้งนี้ หากจะให้วิเคราะห์แนวโน้มราคาในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า คงต้องมาประเมินกันว่าระหว่าง demand ของโลกที่ทยอยกลับมาอย่างต่อเนื่อง เทียบกับการฟื้นตัวของ supply ทั่วโลกที่เป็นลูกโซ่เชื่อมกันแบบโลกาภิวัตน์นั้น อย่างไหนจะมากลับมาเร็วกว่ากัน อย่างไรก็ตาม VRSteel อยากตั้งข้อสังเกตว่า ณ เวลาหนึ่งที่สมดุลของ demand /supply จะกลับมาในสภาวะปกติแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะยังไม่หายไป คือ สภาพหนี้ของแต่ละประเทศ ภาวะเงินเฟ้อสูงแบบฟองสบู่ และปัญหากลไกเศรษฐกิจเชิงมหภาคที่ไม่สามารถกลับไปสภาวะเดิมได้ง่ายๆ และด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อนเหล่านี้ หรือหากฟองสบู่ยังไม่แตกซะก่อน VRSteel ขอฟันธงว่าราคาเหล็กคงไม่สามารถกลับไปที่ฐานเดิมในช่วงปี 2563 ได้อีกในระยะ 3-6 เดือนจากนี้แน่นอน

              แม้ในสถานการณ์ที่เหล็กขึ้นหรือลง ผู้ที่ต้องการเช็คราคาเหล็กก็สามารถเข้าไปเช็คราคาเหล็กแบบ  

Real-Time กับเราได้ตลอดที่ www.vrsteel.com และอย่าลืมรีบสมัครเป็น VRMEMBER เพื่อเตรียมตัวรับข้อมูลและติดตามกราฟแนวโน้มราคาเหล็กของ VRSteel ที่จะนำเสนอทุกแง่มุม ของสิ่งที่ส่งผลกระทบกับราคาเหล็กในไทย ได้ในครั้งหน้า รับรองว่าคุณจะไม่พลาดข่าวสารสถานการณ์ราคาเหล็กอีกแน่นอน


และสอบถามเงื่อนไขการรับราคาที่ดีจนจบโครงการได้ที่ 02-450-3355-6 หรือ

 Line Official : @vrsteel





#เหล็ก
#บทความ
#ผู้รับเหมา
#ไดนามิกไพรซ์
#เช็คราคาเหล็ก
#โครงการขนาดใหญ่
#โครงการขนาดเล็ก
#แพง
#เหล็กข้ออ้อย

Copyright © 2021 VRSteel. All rights reserved.

กลับสู่ด้านบน