ตลาดเหล็กผันผวน ผู้รู้ทันคือผู้อยู่รอด
• ฝนตก น้ำท่วม รถติด เศรษฐกิจแย่ อัตราคนตกงานเพิ่ม ตรงข้ามกลับราคาข้าวของที่แพงขึ้น ค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันก็ยังไม่มีทีท่าจะหยุด และปริมาณหนี้สาธารณะที่สูงมาก เหล่านี่คือสถานการณ์ปัจจุบันในบ้านเรา ซึ่งเรียกว่าสภาวะ Stagflation ที่เคยบรรยายไว้ในบทความเดือนมกราคม 2565 ซึ่งอย่างไรเราก็คงต้องยอมรับสภาพและฝ่าฟันจนวิกฤตผ่านไปให้ได้ สำหรับบทความในครั้งนี้ VRSteel จะมาวิเคราะห์แนวโน้มราคาเหล็กในช่วง Q4 ของปี 2565 ซึ่งจะถูกหรือผิดอย่างไรขอให้สมาชิก VRSteel และผู้อ่านบทความนี้ร่วมกันติดตามและชี้แนะตามความเหมาะสมต่อไป
• เริ่มจาก น้ำมันดิบ WTI เฉลี่ยเดือนกันยายน 65 ที่วิ่งอยู่ระหว่าง 80-95 USD/barrel ขณะที่ฤดูหนาวในยุโรปได้มาเยือนแล้ว ความต้องการพลังงานที่จะเพิ่มสูงขึ้น อาจฉุดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติขึ้นสูงได้อีก ในขณะที่นักวิเคราะห์บางแหล่งกลับมีความเห็นที่แตกต่าง เนื่องด้วยการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ล่าสุด 22 กันยายน 65 ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.75% จนดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาแตะ 3.25% อาจมีผลต่อการเกิด Economic Recession หรือเศรษฐกิจถดถอย และในกรณีนี้ คาดว่านโยบายการเงินจะเป็นตัวกดดันให้ปริมาณการบริโภคน้ำมันและก๊าซที่ลดลง นั่นหมายถึงอาจจะทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติลดต่ำลง
• จีนประสบปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ กำลังซื้อหด อัตราเติบโตถดถอยจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ฉุดราคาเหล็กในประเทศร่วง การระบาดของโควิดใหม่ในกวางโจวและเซินเจิ้น ทำให้รัฐบาลจีนประกาศเพิ่มพื้นที่ล็อกดาวน์ ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มความกังวลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง อย่างไรก็ตาม สัญญาซื้อขายล่วงหน้าของเหล็กเส้นในจีนกลับดีดตัวขึ้นแตะระดับ 3,950 หยวน (26 ก.ย. 65) ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม
• สาเหตุที่ราคาเหล็กเส้นขึ้นคาดว่าเป็น side effect จากความกังวลเรื่องการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ผลิตลดปริมาณการผลิตเหล็กเส้นและเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนลงกว่า 30% (เทียบกับปี 2564) สินค้าคงเหลือที่ลดลงส่งผลให้ตลาดขาดแคลน supply บางส่วน ราคาเหล็กจึงปรับฐานสูงขึ้น ในขณะที่รัฐบาลจีนยังขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเอกชนฟื้นตัวจากการล็อกดาวน์ ธุรกิจก่อสร้างหลายแห่งเริ่มฟื้นตัว บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อย่าง Evergrande ได้กลับมาดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อถึง 668 โครงการ เนื่องจากธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน (China development bank) ได้สนับสนุนเงินกู้เพิ่มเติมในส่วนโครงสร้างพื้นฐานแก่รัฐบาลท้องถิ่น
• กลับมาที่สถานการณ์ในบ้านเรา เนื่องจากเงินดอลล่าห์ที่แข็งค่าไม่หยุด ในขณะที่เงินบาทไทยไม่ได้แข็งค่าตาม ทำให้เกิดสภาวะเงินบาทอ่อนอย่างรวดเร็ว ซึ่งในเวลาที่เรากำลังเขียนบทความนี้อยู่ เงินบาทไทยตกอยู่ที่ 37.7บาท/USD พาต้นทุนนำเข้าหลักขึ้นสูง อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงวัตถุดิบเหล็กเพื่อการผลิต ในส่วนนี้นอกจากกระทบต้นทุนการผลิตเหล็กแล้ว ยังมีผลต่อต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นด้วย เพิ่มเติมคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีมติ ประกาศการขึ้นค่าไฟฟ้า (1 ก.ย. 65) ซึ่งก็ต้องเตรียมใจรับมือต้นทุนค่าไฟฟ้าล่วงหน้าอีก เฉพาะแค่ประเด็นค่าพลังงาน เราไม่มีทางเลี่ยงในการรับมือต้นทุนได้เลย เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศเลิกตรึงราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปนานแล้ว และก็ยังไม่มีความชัดเจนของความช่วยเหลืออื่นเพิ่มจากภาครัฐ
• ซึ่ง VRSteel ให้ข้อสันนิษฐานว่า หากค่าเงินบาทอ่อนไปแตะที่ระดับ 40 บาท/USD เมื่อไหร่ ราคาเหล็กในไทยโดยเฉพาะ สินค้ากลุ่มเหล็กเส้นก่อสร้าง เหล็กแผ่น และกลุ่มท่อเหล็ก อาจปรับตัวขึ้นสูงกว่า 2-3 บาทต่อกิโลกรัม หรือมากกว่า 10% ได้เลยทีเดียว กล่าวโดยสรุปคือ แนวโน้มราคาเหล็กอาจมีการปรับราคาสูงขึ้นในระยะสั้น โดยจะสอดรับกับต้นทุนพลังงาน ต้นวัตถุดิบจากการนำเข้าเป็นหลัก ซึ่งผลกระทบหลักคืออัตราค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างแรง ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในจีนและราคาน้ำมันดิบโลกที่อาจลดต่ำลง จะเป็นตัวฉุดราคาต้นทุนจากแหล่งผลิตและตลาดกลางไม่ให้สูงขึ้นมากเกินไป โดยหากพวกเราคาดหวังราคาเหล็กที่ขาลง ตัวชี้วัดสำคัญที่แนะนำว่าต้องคอยติดตามคือ อัตราการเกิดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง (Economic Recession) ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ว่าจะมาเร็วหรือช้าแค่ไหนนั่นเอง….
• พบกับบทความจาก VRSteel ครั้งหน้า เมื่อเวลาเหมาะสม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Line Official ID : @vrsteel
Facebook : vrsteel
โทร : 02 450 3355-6
Copyright © 2021 VRSteel. All rights reserved.